หลายวันก่อนได้ยินข่าวเกี่ยวกับน้ำใกล้ๆกองขยะ ไหลลงแหล่งน้ำและมีการลงข่าวว่าเป็นน้ำเสื่อมโทรมที่ต้องบำบัด ก็เลยเอาเรื่องน้ำเสียมาฝากกันครับ
น้ำเสีย (Wastewater) หมายถึง น้ำทิ้ง หรือน้ำที่ผ่านการใช้ประโยชน์ หรือน้ำ ที่มีสารใด ๆ หรือสิ่งปฏิกูลที่ไม่พึงปรารถนาเจือปนอยู่ จนทำให้คุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลงไป จนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เว้นเสียแต่ว่าได้ผ่านกรรมวิธีบำบัดที่เหมาะสม โดยสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในน้ำเสีย จะมีคุณลักษณะแตกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิดนั้น เช่น สี กลิ่น น้ำมัน ไขมัน ผงซักฟอก สบู่ ยาฆ่าแมลง สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ เชื้อโรค ที่ตลอดจนสารพิษอื่นๆ
แหล่งที่มาของน้ำเสีย สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
1.น้ำเสียชุมชน(Domestic Wastewater)
น้ำเสียชุมชนเป็นน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมประจำวันของประชาชน ที่อาศัยในชุมชนและการประกอบอาชีพ เช่น บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม โรงแรม ตลาดสด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น โดยน้ำเสียจะเกิดจากกิจกรรม ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การชำระล้าง การซักล้าง การประกอบอาหาร น้ำเสียประเภทนี้มักมีสารอินทรีย แบคทีเรีย น้ำมันและไขมันปนเปื้อน
2.น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม(Industrial Wastewater)
น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะอุตสาหกรรม โดยปกติน้ำเสียมักเกิดจากการล้างวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กระบวนการหล่อเย็น กระบวนการต้มระเหย นอกจากนนี้ก็มีน้ำเสียจากสำนักงาน อาคารที่พัก โรงอาหารเป็นต้น
3.น้ำเสียจากการเกษตรกรรม(Agricultural Wastewater)
น้ำเสียจากการเกษตรมักมีสิ่งเจือปนอยู่ในรูปของสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้น้ำ การใช้ปุ๋ย และการใช้สารเคมีต่างๆ เป็นต้น
สิ่งที่ปนเปื้อนในน้ำเสีย มีหลายชนิด อาทิเช่น
- สารอินทรีย์ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน สามารถย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน ทำให้ระดับออกซิเจนละลายในน้ำ ดีโอ ลดลงเกิดสภาพเน่าเหม็นได้ ปริมาณสารอินทรีย์นิยมวัดด้วยค่าบีโอดี (BOD) หรือ Biochemical Oxygen Demand เมื่อค่าบีโอดีในน้ำสูง แสดงว่ามีสารอินทรีย์ปะปนอยู่มาก
- สารอนินทรีย์ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ อาจไม่ทำให้น้ำเน่าเหม็น แต่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
- โลหะหนักและสารพิษอื่นๆ อยู่ในรูปสารอนินทรีย์ หรืออินทรีย์และสามารถสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ปรอท โครเมียม ทองแดง
- น้ำมันและสารลอยน้ำต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสง และกีดขวางการกระจายตัวของออกซิเจน
- สีและความขุ่น
- กรดและด่าง ค่าพีเอชของน้ำทิ้งควรอยู่ในช่วง 5-9
- ธาตุอาหาร ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เมื่อมีปริมาณสูงจะทำให้เกิดการโตของสาหร่าย (algae bloom) ทำให้ลดออกซิเจนในช่วงกลางคืน
- กลิ่น
- จุลินทรีย์
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นน้ำเสีย เราสามารถตรวจสอบได้ 3 วิธีคือ
– ลักษณะทางกายภาพ ดูด้วยตาเปล่าว่า มีสี มีกลิ่น อุณหภูมิ หรือมีความขุ่นเป็นต้น
– ลักษณะทางเคมี เช่น ความเป็นกรด-ด่าง pH ความสกปรกในรูป BOD, COD สารอาหาร สารพิษต่างๆ
– ลักษณะทางชีวภาพ ได้แก่ จุลินทีย์ต่างๆ
คงเป็นข้อมูลคร่าวๆของน้ำเสีย สิ่งปนเปื้อนในน้ำเสีย และแหล่งกำเนิดของน้ำเสียนะครับ โดยการที่เราจะบอกได้ว่าเป็นน้ำเสียหรือไม่ ก็ต้องดูลักษณะของน้ำทั้งทางกายภาพเป็นเบื้องต้นก่อนเพราะดูด้วยตาเปล่า จากนั้นก็ดูคุณลักษณะทางทางเคมี และชีวภาพ ว่ามีค่ามลพิษต่างๆเกินค่าที่กำหนดหรือไม่
ที่มาของบทความจาก : เอกสารเผยแพร่ของฝ่ายสุขาภิบาลโรงงาน กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร https://wastewatertreatments.wordpress.com
ที่มา : ตำราระบบบำบัดมลพิษทางน้ำ กรมโรงงานอุตสาหกรรม 2554
ที่มา: เอกสารประกอบการสัมมนา เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียขั้นสูง