ในบทความก่อนหน้านี้ ได้อธิบาย เรื่อง ค่ามาตรฐานและความเป็นพิษ (Standard and Toxicity) เช่น TEL, LD50, LC50ไปแล้วนั้น จากการสอบถามพนักงานหลายๆคน ยังพบว่าไม่ค่อยได้อ่าน หรือไม่เข้าใจ MSDS สักเท่าไร ครั้งนี้เลยขอกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกสักครั้งครับ
Material Safety Data Sheet(MSDS) หรือ Safety Data Sheet (SDS) เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี เป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลเฉพาะของสารเคมีแต่ละตัวเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตรายของสารเคมี องค์ประกอบของสารเคมี พิษ วิธีใช้ การเก็บ การกำจัดและการจัดการอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีประจำไว้ในพื้นที่ใช้งาน มีไว้ในห้องปฏิบัติการทุกห้องเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้สารเคมีในห้องปฏิบัติการ นอกจากมีเก็บไว้แล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการศึกษาทำความรู้จัก หรือทำความเข้าลักษณะของสารเคมีนั้นที่เราต้องใช้งานเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่มีความอันตรายสูง ผู้ปฏิบัติงานยิ่งต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีครับ
สำหรับในข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีนั้น จะมีข้อมูลแสดงตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
ข้อมูลที่อยู่ใน MSDS หรือ SDS ของสารเคมี
- การชี้บ่งเคมีภัณฑ์ (Chemical Identification) จะระบุชื่อ ชื่อเคมี สูตรโมเลกุลต่างๆ 2. ชื่อผู้ผลิต/จำหน่าย (Manufacturer and Distributor)
- การใช้ประโยชน์ (Uses)
- ค่ามาตรฐานและความเป็นพิษ (Standard and Toxicity) เช่น LD50, LC50, IDLH, PEL, TEL ค่าต่างๆเหล่านี้สำคัญมากครับ ผมเคยอธิบายไว้ในบทความก่อนครับ
- คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (Physical and Chemical Properties) เช่น สี กลิ่น สถานะปกติ จุดเดือด ความถ่วงจำเพาะ
- อันตรายต่อสุขภาพอนามัย (Health Effect)
- ความคงตัวและการเกิดปฏิกิริยา (Stability and Reaction) เช่น ความคงตัวทางเคมี สารเคมีอันตรายที่เกิดจากการสลายตัว สารที่เข้ากันไม่ได้
- การเกิดอัคคีภัยและการระเบิด (Fire and Explosion) จะมีการระบุ NFPA Code ค่า LEL UEL สารดับไฟ อันตรายจากการระเบิดและเพลิงไหม้ผิดปกติ
- การเก็บรักษา/สถานที่เก็บ/เคลื่อนย้าย/ขนส่ง (Storage and Handling)
- การกำจัดกรณีรั่วไหล (Leak and Spill) วิธีการปฏิบัติในกรณีเกิดการหกรั่วไหล การพิจารณาการกำจัด
- อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPD/PPE) ข้อแนะนำการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล(PPD/PPE)
- การปฐมพยาบาล (First Aid)
- ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impacts)
- การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ (Sampling and Analytical)
- การปฏิบัติกรณีฉุกเฉิน (Emergency Response)
- เอกสารอ้างอิง (Reference)
อ้างอิงตาม ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ กองจัดการสารอันตรายและกากของเสีย กรมควบคุมมลพิษ
สำหรับสารเคมีที่นำเข้า หรือที่มี SDS เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะมีข้อมูลแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ก็ใกล้เคียงกัน
แต่เราต้องนำ SDS ที่เป็นภาษาอังกฤษมาแปลให้เป็นภาษาไทย เพื่อสะดวกในการใช้งาน พร้อมกับสื่อสาร หรือสอนให้ผู้ทำงานเข้าใจด้วยนะครับ
เพื่อความปลอดภัย
ตัวอย่าง SDS ของสารเคมีครับ