ในภาคแรกของหนังสือ The Seven Habits of Highly Effective People 7 อุปนิสัย สำหรับผู้มีประสิทธิผลยิ่ง นั้น ดร.โควีย์ ได้กล่าวถึงกรอบความคิดและหลักการซึ่งก็มีหลายๆสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันครับ
จากการศึกษาเรื่องความสำเร็จในอเมริกาผ่านงานเขียนหลายร้อยชิ้น ดร.โควีย์ พบว่างานเขียนเรื่องความสำเร็จสามารถแบ่งสิ่งที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จออกเป็น 2 ส่วน คือ คุณลักษณะ เช่น การมีศีลธรรม การมีความกล้า การมีความยุติธรรม กับบุคลิกภาพ เช่น การปรับความคิดให้บวก การปรับบุคลิกภาพ ทักษะการสื่อสาร ความมีเสน่ห์ การโน้มน้าว ทักษะเชิงสังคม ซึ่งโดยความเห็นของ ดร.โควีย์ มองว่าคุณลักษณะส่วนตน เป็นรากฐานสำคัญที่จะสร้างความสำเร็จให้ยั่งยืน เปรียบได้กับรากของต้นไม้ซึ่งคนอื่นๆจะไม่เห็น แต่มีความสำคัญมาก หากต้องการประสิทธิผลที่ยั่งยืนต้องทุ่มเทพัฒนาคุณลักษณะของเราเมื่อรากฐานมั่นคงแล้ว การเจริญเติบโตและออกดอกผลก็จะได้ผลดีตามไปด้วย
ถัดมาคือเรื่องของอำนาจกรอบความคิด โดยกรอบความคิด คือวิธีที่เรามองโลก เป็นการรับรู้ เข้าใจและตีความโลกที่เราเห็น เปรียบได้กับแผนที่ของแต่ละคน ถ้าแผนที่ที่เรามีอยู่เกิดพิมพ์ผิด ไม่ว่าเราจะเดินทางเพื่อไปถึงจุดหมายให้เร็วขึ้น ก็เป็นไปได้ยากเพราะยังหลงทางอยู่ เปรียบได้กับถึงแม้เราจะมีทัศนคติที่เป็นบวกมากมาย แต่ก็ไปผิดทางอยู่ดี ดร.โควีย์ บอกว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุด คือ ความถูกต้องของแผนที่ ในหนังสือได้ยกตัวอย่างภาพหนึ่งเพื่อให้เราเห็นว่ากรอบความคิดมีความสำคัญมาก โดยให้เรามองและให้คำตอบว่าเป็น สตรีอายุเท่าใด? (ผมก็เคยเห็นภาพนี้เมื่อหลายปีก่อน บางคนก็อาจเคยเห็น ซึ่งเป็นภาพที่สามารถมองออกมาได้ 2 แบบ เป็นสาวน้อย และเป็นยายแก่) จากการทดลองให้มองภาพและให้ระบุว่าเป็นแบบไหน กลุ่มหนึ่งจะบอกว่าเป็นหญิงสาว อีกกลุ่มบอกว่าเป็นยายแก คนสองกลุ่มต่างก็มั่นใจว่าเป็นภาพดังที่ตนเองเห็น ต่างไม่ยอมรับฝ่ายความเห็นของอีกฝ่าย ซึ่งจากการสาธิตนี้สรุปได้ว่าในในการมองภาพเดียวกันแค่ไม่กี่วินาทียังสามารถมองได้ต่างกัน แล้วกรอบความคิดที่เราใช้มาตลอดชีวิตละ มันก็คงไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่เปลี่ยนมุมมอง ไม่เปลี่ยนกรอบความคิดก็จะไม่เห็นเหมือนที่คนอื่นเห็น และวิถีที่เรามองเห็นก็จะกำหนดทัศนคติและพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา แต่เมื่อเราเปิดใจรับฟังมุมมองของอีกฝ่ายก็จะเห็นภาพอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนกรอบความคิดจะทำให้มองเห็นมุมมองใหม่ กรอบความคิดที่ เราต้องให้ความทุ่มเท จะต้องเป็นกรอบความคิดที่อยู่บนหลักการควบคุมประสิทธิผลของมนุษย์ เป็นกฎธรรมชาติ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็นหลักสากล เช่น เป็นธรรม ศักดิ์ศรีมนุษย์ การให้บริการ ศักยภาพ เป็นต้น
7 อุปนิสัยนี้ จะยึดหลักการเป็นแก่นหลัก วางบนฐานของคุณลักษณะ ใช้วิถีจากภายในสู่ภายนอก ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เริ่มต้นที่ความคิด คุณลักษณะและเหตุจูงใจของเราเอง เริ่มจากการปรับปรุงตนเองก่อนเพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้ เลื่อนขั้นจากการพึ่งพิงผู้อื่นมาสู่การพึ่งพิงตนเอง จากนั้นจึงพัฒนาต่อไปเป็นการพึ่งพาซึ่งกันละกัน แต่ในการพัฒนาตนเองนั้นไม่ต้องรอให้ อุปนิสัยที่ 1-3 สมบูรณ์แล้วค่อยไปพัฒนาอุปนิสัยที่ 4-6 เพราะในชีวิตประจำวันเราสามารถใช้ทั้ง 7 อุปนิสัยได้
นิยามของประสิทธิผล ตามความหมายของ ดร.โควีย์ คือ ผลผลิตและความสามารถในการผลิต โดยเปรียบกับนิทานอีสปที่เราเคยอ่านกันคือเรื่อง ห่านออกไข่ทองคำ คือเราต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลผลิตกับความสามารถในการผลิต ต้องดูแลทั้งห่านและไข่ เหมือนตัวเองต้องดูแลร่างกายและจิตใจ ในบริษัทเราต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าเท่าๆ กับพนักงาน เป้นต้น
โดยสรุปสาระของบทนี้คือ เราต้องมุ่งสร้างคุณลักษณะภายในที่จะสร้างความสำเร็จให้ยั่งยืน
เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดให้อยู่บนหลักการควบคุมประสิทธิผลของมนุษย์