เคยมีคำกล่าวว่า
คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า จริงหรือ?
ทุกองค์กร ต่างก็พยายามคัดสรรคนเก่งเข้ามาทำงาน เพื่อให้องค์กรเติบโตและประสบความสำเร็จ
ส่วนใหญ่อาจมองว่าแรงดึงดูดให้คนเข้าทำงานนั้น คือ เงินและสวัสดิการต่างๆ ถ้าให้มากพอก็เพียงพอแล้วที่จะให้คนอยากทำงาน
แต่ในยุคปัจจุบัน เงิน ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะดึงดูดคนเก่งให้ทำงานกับองค์กรนานๆ
คำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์ตอนลาออก อาจจะไม่ได้สะท้อนความจริงที่ซ่อนอยู่ เพราะคนที่ตัดสินใจลาออก ก็ไม่จำเป็นที่จะบอกอะไร
สาเหตุส่วนหนึ่งที่คนในอาจรู้อยู่เต็มอก แต่ไม่รู้จะทำยังอย่างไร หรืออาจจะไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย
นั่นคือ ยอมรับว่าหัวหน้าเป็นเหตุในหลายๆครั้งของการลาออก
ในหลายองค์กรมักแต่งตั้งหัวหน้ามาจากความสามารถในการทำงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองเรื่องทักษะการบริหารคน
หรือ People skill ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการบริหาร อาจจะไม่ได้มีการเตรียมการพัฒนาหรือเตรียมความพร้อมให้กับบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานด้วยซ้ำไป
จนก่อเกิดปัญหาด้านคนตามมาจนส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
Peter Drucker ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำ กล่าวไว่ว่า
“เราใช้เวลามากมายในการสอนหัวหน้า ว่าควรทำอะไรเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดี
แต่เราไม่ให้เวลามากพอที่จะบอกเขาว่า ควรหยุดทำอะไรเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดี”
มีข้อแนะนำสำหรับหัวหน้า ว่าควรหยุดทำ 5 อย่างนี้ครับ
- รับปากแล้วไม่ทำ หรือ รับปากในสิ่งที่ไม่สามารถให้ได้ เช่น รับปากว่าจะเลื่อนขั้น หรือเพิ่มเงินเดือนให้
หากรับปากแล้วทำไม่ได้ จะทำให้ลูกน้องหมดศรัทธา และหมดกำลังใจในการทำงานได้
- รับชอบแต่ไม่รับผิด กรณีหลายคนมีประสบการณ์เจอหัวหน้าที่เอาแต่ความดีความชอบ พอมีเหตุผิดพลาดเมื่อไหร่ก็บอกปัด ไม่รับรู้ไม่รู้เรื่อง ลูกน้องทำโดยพละการ คนที่เป็นลูกน้องก็รับผิดไปเต็มๆ ตรงนี้เองผมว่าอาจจะไม่ใช่แค่หัวหน้าโดยตรง หัวหน้าขั้นที่สูงขึ้นไปก็ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างเช่นกัน ถ้าสั่งให้ลูกน้องทำแล้วไม่ร่วมรับผิดชอบก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่า หัวหน้า จริงไหม
- ตัวเองถูกที่สุดไม่ฟังความเห็นใคร จริงอยู่ที่หัวหน้ามีสิทธิ์ที่จะสั่งงาน หรือไม่บอกเหตุผลใดๆ แต่การยึดความคิดเห็นตัวเองเป็นหลักสุดโต่งโดยไม่ฟังเหตุผลจากลูกน้องเลย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกน้องลำบากใจในการทำงาน อาจจะลังเลใจที่จะทำเพราะกลัวถูกโยนความผิดมาให้ ท้ายที่สุดก็ทำงานแบบไม่เต็มใจ ผลงานก็ออกมาไม่ดี
- ไม่ให้เกียรติลูกน้อง หลายคนพอได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าก็หยิ่งพยอง ไม่เห็นหัวใคร พูดจาหรือกระทำบางอย่างที่ไม่ให้เกียรติผู้อื่น เรื่องนี้ต้องระวังให้ดี
- ตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่น การพูดถึงปมด้อยหรือด่าลูกน้องเพราะทำงานผิดพลาดต่อหน้าผู้คน เป็นการกระทำที่แย่มาก จะทำให้เขาเกิดความอับอาย ไม่อยากทำงาน อีกทั้งยังสร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ทำให้เขาไม่กล้าทำงานเพราะกลัวถูกด่าเช่นกัน
ยังมีอีกหลายสิ่งที่หัวหน้าต้องเรียนรู้ เพราะการบริหารคนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่มีวิธีที่ถูกต้องตายตัว
หนึ่งสิ่งที่ผมพยายามคิดและทำตามนั่นคือคำสอนของ
ขงจื้อที่ว่า “ผู้นำคือผู้รับใช้”
เป็นหัวหน้าเป็นผู้นำ ต้องทำให้ลูกน้องมีความสุข ความเจริญ มีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อลูกน้องมีความสุข ความปลอดภัย เห็นหนทางเจริญก้าวหน้า เขาก็จะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ
และช่วยสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าทำนอง “คนเป็นสุข งานก็สำเร็จ”
เพราะการทำงาน เราเดินคนเดียวไม่ได้ ต้องมีผู้นำ ผู้ตาม หัวหน้า ลูกน้อง
หัวหน้ามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือลูกน้อง ช่วยงานเพื่อนร่วมงาน และสร้างผลงานให้หัวหน้า
ต้องเต็มใจรับใช้คนทั้ง 3 กลุ่มนี้ให้ประสบผลสำเร็จ
จึงจะถือเป็นผลสำเร็จของตัวเอง
ลองคิดดูครับ
เพราะ ผู้นำที่คือผู้รับใช้
+++++++++