หลังจากรู้จัก ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) กันไปบ้างแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ใครยังไม่ได้อ่านก็สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่ครับ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)
สำหรับ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ผมเพิ่งได้รับมอบหมายให้มาดูแลกระบวนการผลิตที่มีการก๊าซชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมและทำให้ได้รับโอกาสไปเข้าร่วมอบรมผู้ปฏิบัติงานสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว จึงได้รู้ว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ LPG หลายฉบับมาก โดยฉบับหลักที่เกี่ยวข้อง คือ ประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบและการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ.2554 โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2554
กฎหมายฉบับนี้ได้เน้นไปที่การกำกับดูแลสถานที่ใช้ก๊าซ LPG ตามสถานประกอบการ เช่น โรงงาน, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงต้มในครัวเรือน โดยจะมีการกำหนดสถานที่ใช้ก๊าซ LPG รวมไปถึงการใช้ภาชนะให้สอดคล้องการเก็บรักษาวัตถุอันตรายและมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักสากล โดยสาระสำคัญของกฎหมาย ฉบับนี้อาทิเช่น
- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตสำหรับวัตถุอันตราย และไม่ต้องขึ้นทะเบียนสำหรับวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- ผู้มีไว้ในครอบครอ ในสถานที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ถ้ามีปริมาณการเก็บรวมกันไม่เกิน 500 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครองก๊าซฯ ถ้ามีปริมาณการเก็บเกิน 250 กิโลกรัม ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการครอบครอง และถ้ามีปริมาณการเก็บรวมกันเกิน 1,000 กิโลกรัม ต้องเก็บรักษาและใช้ก๊าซฯ จากถังเก็บและจ่ายก๊าซ
- ผู้จะเลิกการประกอบกิจการโรงงาน หรือเลิกใช้ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่พร้อมหนังสือรับรองจากผู้ทดสอบและตรวจสอบว่าไม่มีก๊าซค้างอยู่
- กำหนดให้แผนผังและรูปแบบของสถานที่ใช้ก๊าซฯ ที่ขออนุญาต
- ถังเก็บและจ่ายก๊าซ ต้องเป็นภาชนะที่มีขนาดและลักษณะ และมีข้อต่อที่จะติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนด
- ถังเก็บและจ่ายก๊าซแบบเหนือพื้นดิน ต้องมีแผ่นป้ายโลหะติดไว้ที่ถังเป็นภาษาไทยและหรืออังกฤษ
- การตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซฯ ในสถานที่ใช้ก๊าซฯ ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้
- การวางระบบท่อก๊าซฯ การติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับถังเก็บและจ่ายก๊าซในสถานที่ใช้ก๊าซฯ ให้เป็นไปตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด
- ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยของสถานที่ใช้ก๊าซฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- การกำหนดบริเวณอันตรายในการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และบริภัณฑ์ ของสถานที่ใช้ก๊าซฯ ให้เป็นไปตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด
- อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ในบริเวณอันตราย ต้องทนการระเบิด และได้รับการรับรอง
- การเดินสายไฟฟ้าในบริเวณอันตราย ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด
- ระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า วิธีเดินสายไฟฟ้าต้องต่อลงดิน
- สถานที่ใช้ก๊าซฯ ปริมาณการเก็บรวมกันเกิน 500 กิโลกรัม ต้องติดเครื่องส่งเสียงดัง เมื่อก๊าซรั่วไว้ที่ตั้งถังก๊าซหุงต้ม หรือถังเก็บและจ่ายก๊าซ อย่างน้อยบริเวณละ 1 เครื่อง
- .ถังเก็บและจ่ายก๊าซที่ผลิตหรือสร้างใหม่ ผู้ผลิตหรือผู้สร้างต้องทดสอบและตรวจสอบ ด้วยกรรมวิธีที่ไม่ทำลายสภาพเดิม พร้อมยื่นผลการทดสอบและตรวจสอบต่อกรมธุรกิจพลังงงาน
- ก่อนบรรจุก๊าซฯ ลงในถังเก็บและจ่ายก๊าซ ต้องทดสอบ โดยใช้ความดันไฮดรอลิก
- เมื่อใช้ครบทุกๆ 5 ปี ต้องทดสอบและตรวจสอบ จัดทำหนังสือรับรองยื่นพร้อมผลการทดสอบ การต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการประจำปีทุกครั้ง ต้องตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซแบบเหนือพื้นดินด้วยวิธีตรวจพินิจด้วยสายตา (Visual Inspection) เป็นอย่างน้อย
- ต้องมีบุคลากรเฉพาะที่รับผิดชอบดูแลไม่น้อยกว่า 1 คน
- ต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้
สำหรับเรื่องการขออนุญาตผมได้ทำสรุปง่ายไว้ ตามตารางด้านล่างครับ
ส่วนกฎหมายฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ผมได้รวบรวมไว้ตามรูปด้านล่างครับ ไว้มาสรุปสาระสำคัญๆ ในคราวหน้าครับ
อ้างอิง
ประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษา การกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบและการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
http://elaw.doeb.go.th