หายไปพักหนึ่งเนื่องจากวุ่นอยู่กับการ ตรวจติดตามระบบ ISO14001 ครับ เป็นรอบการตรวจ Surveillance audit จาก CB(certified Body) ก็ต้องมีการตรวจสอบเอกสารรวมถึงข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน บางคนอาจจะแย้งถ้ามีระบบดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเตรียมตัว จริงๆแล้วระบบนะดีครับ แต่ในบางครั้งความเข้าใจของผู้ใช้งาน และความยุ่งยากของวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากทีมสร้างระบบเองที่ทำให้ในบางเรื่องมีวิธีการที่ซับซ้อน บางขั้นตอนผู้ใช้งานไม่เข้าใจก็อาจเป็นสาเหตุให้การทำงานจริงๆ ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเขียนเป็นวิธีการปฏิบัติงาน(procedure) จึงต้องตรวจสอบกันหน่อยครับ
สำหรับในบทความนี้จึงขอเกริ่นบางส่วนเกี่ยวกับ ISO14001 version 2015 ให้คร่าวๆละกันครับ สำหรับ ISO14001:2015 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงในข้อกำหนดหลายส่วนเหมือนกันครับ สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้ขอการรับรอง ก็คงต้องเตรียมตัวศึกษาทำความเข้าใจและฝึกอบรมข้อกำหนดใหม่กันก่อน จากนั้นก็ทำการทบทวนสถานะปัจจุบันเทียบกับข้อกำหนดใหม่ ดำเนินการปรับปรุงและจัดทำระบบเพิ่มเติม พร้อมปฏิบัติตามระบบใหม่ที่ได้ปรับปรุงแล้วให้มีผลการดำเนินการสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถึงรอบของการขอรับรองนะครับ
รูปด้านบนเป็นการเปรียบเทียบข้อกำหนดของ ISO14001:2004 กับ ISO14001:2015 ครับ ซึ่งมีโครงสร้างของข้อกำหนดที่เปลี่ยนไป และใช้แบบเดียวกับ ISO9001:2015 ส่วนด้านล่างเป็นข้อกำหนดทั้งหมดของ ISO14001:2015 ซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อใหญ่ และมีข้อย่อยในแต่ละข้อด้วยครับ
ใน ISO14001:2015 มีหลักการสำคัญในหลายเรื่อง อาทิเช่น
การจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic environmental management)เป็นข้อกำหนดใหม่ที่ต้องเข้าใจในบริบทขององค์กร (Context of organization) ทั้งภายใน ภายนอก สถานการณ์ต่างๆที่อาจจะมีผลกระทบต่อองค์กร ผลิตภัณฑ์ การบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ข้อกำหนดใหม่มีการบูรณาการมากขึ้น และใช้ HLS(High Level Structure) โครงสร้างระดับสูง คือ ให้มีข้อย่อยเหมือนกัน ข้อความเหมือนกัน และคำจำกัดความหลักเหมือนกันกับมาตรฐานอื่นใน ISO
มีการประยุกต์ใช้แนวคิดด้านการจัดการความเสี่ยง ผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเน้นไปที่การป้องกัน ให้มีการนำเอาวัฎจักรชีวิต(Life Cycle) มาพิจารณาในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) ข้อกำหนดใหม่เน้นการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบของผู้บริหารมากขึ้น ซึ่งต้องแสดงถึงความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้มีการกำหนดตัวแทนฝ่ายบริหารเหมือนกับ version 2004(Management Representative)
ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental performance) องค์กรต้องตัดสินใจในเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ตัวชี้วัดที่ถูกต้องและเหมาะสม.
การสื่อสาร (Communication) เน้นการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะการตัดสินใจการสื่อสารสู่ภายนอกในความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติตามข้อผูกมัดบังคับ
การจัดการด้านเอกสาร (Documentation) ไม่มีคำว่า “บันทึก (Record)” แต่จะใช้คำว่า “ข้อมูลเอกสาร (Documented information)” แทน ซึ่งรูปแบบของเอกสารจะรวมอยู่ในหลากหลายแบบ เช่น เป็นกระดาษ, สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สำหรับ ISO 14001:2004 ยังคงสามารถให้การรับรองต่อไปได้อีกถึง ปี 2561 ครับ สำหรับ version 2015 ผมว่า มีจุดเด่นหลายประการที่ช่วยผลักดันให้บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับการจัดการขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เชิงรุกมากขึ้น ถ้าเราทำตามระบบได้ดี ก็น่าจะส่งผลให้ผลจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นครับ