ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าแก๊สไข่เน่า คงคุ้นๆกันแล้วใช่มั้ยครับ ในงานระบบบำบัดน้ำเสียก็คงต้องรู้จักก๊าซชนิดนี้ดี เนื่องจากในน้ำเสียถ้าหากเก็บไว้เป็นเวลานานก็จะเกิดการเน่าเหม็น ซึ่งกลิ่นเหม็นนี่แหละส่วนหนึ่งก็มาจากไฮโดรเจนซัลไฟด์ สำหรับในบทความนี้ขอเล่าถึงอันตรายของก๊าซชนิดนี้ก่อน เนื่องจากในการดูแลระบบบัดน้ำเสียนั้น จะมีงานที่ต้องลงไปล้างทำความสะอาดบ่อเก็บน้ำเสีย หรือบ่ออื่นๆ ซึ่งเป็นการทำงานในที่อับอากาศ เป็นงานที่เสี่ยงอันตราย โดยในการทำงานในที่อับอากาศนั้นมีกฎหมายควบคุมอยู่ ไว้มาอธิบายในบทความหน้าละกันครับ
สำหรับอันตรายของไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีตัวอย่างอุบัติภัยที่เกิดขึ้นอยู่หลายกรณีตามที่เป็นข่าว เช่น เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2552 แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์รั่ว ส่งผลให้คนงานและผู้รับเหมาจำนวน 27 ราย ได้รับก๊าซพิษทำให้เกิดอาการมึนศีรษะแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล เหตุเกิดที่โรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์รั่ว ที่โรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี เป็นเหตุให้วิศวกรได้รับบาดเจ็บ 4 รายและเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2560 สยองกรุง! คนงานลงไปล้างบ่อบำบัดลึก 2 เมตร สุดท้ายขาดอากาศตายสลด 4 ศพ เป็นการทำงานในที่อับอากาศ ก็อาจมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์เกิดขึ้นอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต
ไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นหนึ่งในสารประกอบที่ได้จากธาตุซัลเฟอร์ มีคุณสมบัติเป็นก๊าซพิษที่ไม่มีสี มีสูตรทางเคมีว่า H2S น้ำหนักโมเลกุล 34.04 จุดเดือด -85.5C จุดหลอมเหลว -60.7C ความหนาแน่นของแก๊ส 1.393 g/L ที่อุณหภูมิ 25C ความดันบรรยากาศ 1 atm ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ค่าปริมาณไอระเหยของก๊าซต่ำสุดที่สามารถเกิดการระเบิดได้ หากมีออกซิเจนเพียงพอ (Lower explosive Limit, LEL) อยู่ที่ 4.3% จึงจัดว่าเป็นก๊าซที่มีความว่องไวในการลุกติดไฟได้ง่ายมากและเกิดการเผาไหม้อย่างรุนแรง และอุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้เองอยู่ที่อุณหภูมิ 290C
ไฮโดรเจนซัลไฟด์หากได้รับในระดับความเข้มข้นต่ำก็ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองแต่ถ้าได้รับที่ปริมาณความเข้มข้นสูงๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที และนอกจากนี้เมื่อก๊าซนี้สัมผัสกับน้ำหรือไอน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นกรดซัลฟูริกมีฤทธิ์ทางการกัดกร่อนสูง สามารถกัดกร่อนหลังคาบ้านเรือนรวมไปถึงวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากเกาะตัวอยู่บนโลหะหรืออยู่ในอากาศ เมื่อฝนตกลงมาก็จะกลายเป็นไอกรดหรือฝนกรด และถ้าหากถูกผิวหนังก็จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน
The American National Standards Institute standard ได้แบ่งระดับความเป็นพิษตามระดับความเข้มข้นของก๊าซที่ได้รับ แสดงดังตาราง
http://www.tasatec.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539680468&Ntype=21
ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นก๊าซพิษที่ต้องตระหนักถึงอันตรายทุกครั้งก่อนที่จะเข้าทำงานในที่อับอากาศครับ โดยค่าความเป็นพิษของไฮโดรเจนซัลไฟด์นั้นมีดังนี้
TLV Threshold limit value (ACGIH)ค่าจำกัดที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคน : 10 ppm
STEL Short-term exposure limits (ACGIH)ค่าจำกัดการสัมผัสระยะสั้น : 15 ppm
PEL Permissible exposure limit(OSHA)ค่าจำกัดการสัมผัสที่ยอมรับได้ : Ceiling(OSHA)ระดับความเข้มข้นที่ไม่ควรเกินไม่ว่าช่วงเวลาใดของการทำงาน = 20 ppm
IDLH Immediately Dangerous to Life or Health(NIOSH)อันตรายทันทีทันใดต่อชีวิตหรือสุขภาพ : 100 ppm
Odor Threshold Low ความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถได้กลิ่นหรือจดจำสารนั้น : 0.001 ppm
โดยเราต้องทำงานในที่อับอากาศ ต้องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของก๊าซพิษนี้ ให้มีค่าไม่เกิน 5 ppm ถ้าให้ดีควรจะเป็น 0 ppm ถึงจะสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และด้วยการที่ก๊าซนี้มีกลิ่นเน่าซึ่งเราได้กลิ่นตั้งแต่ความเข้มข้นต่ำกว่า 1 ppm ดังนั้นเมื่อเจอว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรงก็ต้องระวังเป็นพิเศษก่อนการตรวจวัดความเข้มข้น อย่างไรก็ตามในการทำงานที่อับอากาศนั้นยังมีอันตรายด้านอื่นๆ และมีแนวทางปฏิบัติอีกหลายประการที่ต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยในการทำงานครับ