ปัญหาในการเดินระบบบำบัดน้ำเสียแต่ละประเภท ก็คงมีปัญหาแตกต่างกันไปสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge ก็มีปัญหาหลายอย่างครับ
โดยปัญหาต่างๆ อาจ มีได้ดังนี้
- ตะกอนไม่จมตัว(Bulking)
- ตะกอนลอยปิดผิวน้ำ
- น้ำขุ่นที่ถังตกตะกอน
- ประสิทธิภาพของระบบต่ำ
- เกิดฟองในถังเติมอากาศ
- pH ต่ำในถังเติมอากาศ
- อื่นๆ
สำหรับบทความนี้ จะอธิบายถึงปัญหาตะกอนไม่จม หรือ bulking ก่อนครับ ปัญหาตะกอนไม่จม ตะกอนอืด หรือจะเรียกว่า bulking เป็นปัญหารุนแรงที่มาคู่กับระบบ Activated sludge ครับ ในการทำงานระบบบำบัดน้ำเสียช่วง 1-2ปีแรก ผมเจอปัญหานี้บ่อยมาก ปีหนึ่งเกิด 4-5 ครั้ง เรียกว่าเกิดตะกอนอืดกันเดือนเว้นเดือนกันเลยทีเดียว ลักษณะอาการของ Bulking คือการตกตะกอนช้ามาก ระดับการตกตะกอนในกระบอกตวง SV30 มากกว่า 500 ml หรือ SVI มากกว่า 200 ขึ้นไป สำหรับสาเหตุการเกิดปัญหาและการแก้ไขปัญหาให้ได้ 100% นั้นไม่มีวิธีการที่แน่นอน แต่ก็มีแนวทางในการป้องกัน เช่น การควบคุม pH, DO ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม รักษาธาตุอาหารให้พอดี อย่าให้เกิด shock load ประมาณนี้ แต่ถึงแม้เราจะพยายามควบคุมกระบวนการให้ดี แต่โรคตะกอนไม่จม หรือ Sludge Bulking ก็อาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี โดยเฉพาะระบบบำบัดที่มีน้ำเสียประเภทแป้ง หรือน้ำตาลสูง ซึ่งทำให้แบคทีเรียเส้นใย หรือ Filamentous เจริญเติบโตได้ดี
ในกรณีที่เกิดตะกอนไม่จมแล้ว การแก้ไขอาจทำได้หลายวิธี ซึ่งก็อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ วิธีการต่างๆ เช่น
- ปิด Aerator เป็นระยะสั้นๆ เพื่อทำลายแบคทีเรียเส้นใย
- เติมคลอรีนที่ท่อตะกอนหมุนเวียน 10-20 มก/ล ต่อเนื่องหลายๆวัน เพื่อให้แบคทีเรียเส้นใย ถูกทำลายและขาดเป็นท่อนเล็กลง ทำให้การตกตะกอนดีขึ้น
- ใช้สารเคมีช่วยตกตะกอน เช่น Ferric Chloride, Alum, Polymer
สำหรับผม ทางผู้ออกแบบระบบก็ได้ให้แนวทางในการตรวจสอบไว้และให้หาทางแก้ตามสาเหตุที่คาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาดังนี้ครับ
- คุณลักษณะน้ำเสีย
- ตรวจหาสารพิษโลหะหนัก ว่ามีเข้ามาในระบบหรือไม่
- วิเคราะห์ Organic acid มีอะไรต่างไปจากเดิมหรือไม่
- ตรวจสอบสมดุล N, P
- การควบคุมน้ำเข้า
- ตรวจสอบ H2S ว่ามีเข้ามาในระบบหรือไม่
- ตรวจสอบ F/M ratio
- BOD loading แกว่งมากเกินไปหรือไม่
- ค่าควบคุมระบบ สามารถควบคุมได้ปกติหรือไม่
- DO
- pH
- SRT retention time
- Temperature
ท้ายนี้ผมเคยค้นหาข้อมูลการแก้ปัญหา Sludge bulking และพบเอกสารของ ผศ.พนาลี ชีวกิดาการ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ซึ่งท่านเขียนได้ครบถ้วนดีมากเลยทีเดียว เลยขอถือโอกาสแชร์ให้ทุกคนนะครับ มี 2 ฉบับ ลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูนะครับ
Activated Sludge วิธีการแก้ปัญหาตะกอนเบา ไม่จมตัว
Activated Sludge กับปัญหาแบคทีเรียเส้นใย